สารอาหารที่เราจะได้รับเพื่อสุขภาพเมื่อเราปลูกผักรับประทานเอง

การเลือกปลูกผักสวนครัวให้เหมาะกับสภาพพื้นที่อันจำกัดที่มีอยู่รวมถึงผู้ปลูกสามารถนำวัสดุเหลือใช้ภายในครัวเรือน เช่น ถังน้ำที่แตกแล้ว ขวดน้ำ พลาสติก มาดัดแปลงทำเป็นกระถางในการปลูกผักได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลก ทั้งยังเกาะกระแสช่วยลดโลกร้อน สร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงสุขภาพที่ดีให้กับผู้ปลูกและผู้บริโภค แถมท้ายหากมีความเชี่ยวชาญแล้วก็อาจจะขายสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกด้วย กำไรหลายต่ออย่างนี้ เราๆท่านๆ ที่มีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่ใกล้ๆลองหันมาทำสวนครัวกันดูไหม

การเลือกทำเลในการปลูกผักสวนครัว ก็เลือกปรับตามสภาพพื้นที่ ที่มีอยู่ เช่น ถ้าเป็นบ้านเดี่ยว อาจทำเป็นแปลงลงดินได้เลย แต่หากอาศัยอยู่ตามตึกแถว คอนโดฯ ทาวน์เฮาส์ ก็ปลูกเป็นสวนผักกระถางไว้ริมระเบียง หรือทำคอกใส่ดินไว้บนดาดฟ้า แต่ก็ควรคำนึงถึง การรับน้ำหนักของพื้นที่ดาดฟ้า รวมถึงการระบายน้ำที่ดี ไม่ให้ซึมไปยังห้องด้านล่างของดาดฟ้า รวมถึงพื้นที่จะต้องมีแสงแดดเพียงพอ มีแหล่งน้ำที่จะรดผักและมีอากาศถ่ายเทได้ดี

การปลูกลงแปลง จะใช้กับพืชที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ หรือเป็นพวกผักกินหัวหรือราก เช่น หัวไชเท้า แครอต เนื่องจากรากและลำต้นสามารถงอกทะลุผ่านเม็ดดินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ ทั้งนี้พืชกินหัวจะไม่ทำการย้ายต้นกล้าไปปลูก เพราะจะทำให้รากของต้นผักได้รับการกระทบกระเทือน อาจชะงักการเจริญเติบโตได้ โดยจะใช้การหว่านหรือหยอดหลุม

การเพาะเมล็ดเป็นต้นแล้วย้ายไปปลูก ทำโดยนำเมล็ดไปเพาะในถาดหลุมหรือกระจาดพลาสติก เมื่อต้นกล้าผักงอกจนมีใบจริงประมาณ 2-3 ใบแล้วจึงย้ายไปปลูกลงแปลงหรือลงกระถาง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็ย หมั่นสังเกตดูการเจริญเติบโตของต้นพืช โรคและแมลงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแปลงของเราด้วย

การดูแลใส่ปุ๋ย ก็เพียงเติมปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมัก พร้อมกับรดน้ำด้วยน้ำสกัดชีวภาพในอัตราส่วน น้ำสกัดชีวภาพ 1 ส่วน และน้ำ 500-1,000 ส่วน สัปดาห์ละครั้ง หรือน้ำสกัดชีวภาพ 2-4 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 บัวรดน้ำ และก็อย่าลืมถอนวัชพืช เด็ดใบเหี่ยวหรือแก่ออกบ้าง พืชที่ดูแลอยู่ ก็จะเจริญเติบโตได้ดีสมใจผู้ปลูก