กิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัย

กิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัย
การทำสวนผักยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมากมาย การให้เด็กได้ปลูกผักมีส่วนช่วยในขั้นตอนต่างๆ มีผลทำให้เด็กที่ไม่กินผักหันมากินผักมากขึ้น โดยเฉพาะผักที่ตัวเองปลูกเองกับมือ หลายโรงเรียน หรือคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเริ่มสนใจ แต่บางทีก็คิดไม่ค่อยออกว่าจะนำเรื่องการปลูกผักมาเชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆได้อย่างไร

สำหรับเด็กในชุมชนเมืองมีพื้นที่สำหรับใช้ในการเพาะปลูกน้อย พ่อแม่ควรจัดพื้นที่หน้าบ้านหรือระเบียงไว้สำหรับให้เด็กได้เพาะปลูกผัก ไม้ดอก ไม้ประดับที่มีต้นไม่ใหญ่มากนัก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะดูแลรักษา และเกิดความรับผิดชอบ ภาคภูมิใจในกิจกรรมการเพาะปลูก และเป็นการปูพื้นฐานให้ตระหนักและรับรู้ถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัย ดังนี้

  1. จัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้มีความร่มรื่นสวยงามด้วยการจัดพื้นที่สำหรับการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาเพื่อให้เด็กได้ซึมซับเกี่ยวกับประโยชน์ของต้นไม้และธรรมชาติที่มีต่อการดำรงชีวิต เช่น ให้ความสดชื่นสวยงามสบายตา ให้ร่มเงาและคลายร้อนได้
  2. จัดพื้นที่หลังบ้านให้มีแปลงพืชผักสวนครัว เช่น การปลูกขมิ้น ตะไคร้ ขิง ข่า ใบมะกรูด ผักบุ้ง ผักคะน้า ฯลฯ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาหารของครอบครัวและให้เด็กได้เรียนรู้ด้วย
  3. ให้เด็กได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการปลูกพืชผัก สวนครัว การปลูกต้นไม้ ตั้งแต่การเตรียมการปลูก ลงมือปลูกและการบำรุงดูแลรักษาให้พืชผักเจริญเติบโตจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ความรู้สึกรับผิดชอบและความภาคภูมิใจที่เกิดจากการได้ทำกิจกรรมการเพาะปลูกด้วยตนเอง จะนำไปสู่การรับรู้ถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้
  4. สอนเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น การพาลูกไปเที่ยวอุทยาน สวนสัตว์ที่มีพื้นที่ป่าและต้นไม้ โดยชี้ให้เด็กเห็นว่าต้นไม้มีประโยชน์ เป็นสถานที่สำหรับการมาท่องเที่ยวและพักผ่อน เป็นสถานที่มีอากาศบริสุทธิ์สำหรับการอยู่อาศัยของสัตว์ด้วย นอกจากนี้ต้นไม้ยังเป็นที่กักเก็บน้ำ เช่น รากของต้นไม้ใหญ่บนภูเขาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำทำให้มีน้ำใช้ได้ตลอดไป ถ้าเราไปตัดต้นไม้นั่นหมายถึงการทำลายต้นน้ำลำธารด้วย
  5. แนะนำเด็กให้ดูสารคดีที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติจากรายการโทรทัศน์ต่างๆที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากสารคดีต่างๆที่นำเสนอจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวรจนเกิดเป็นนิสัย ซึ่งจะปลูกฝังให้เกิดความรัก ความหวงแหน และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การรับรู้เป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้มองเห็นคุณค่าความงดงามของสิ่งแวดล้อม