การปลูกผักสวนครัวที่บ้านกิจกรรมเล็กๆ

เวลานี้ต้องยอมรับว่า ผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านต่างกุลีกุจอจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเด็กๆกันยกใหญ่จนพ่อแม่ผู้ปกครองอาจสับสนถึงกับเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียวว่าจะให้ลูกทำกิจกรรมแบบไหนดี แต่ทว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้างที่พ่อแม่จะสรรค์สร้างให้ลูกได้โดยที่ไม่ต้องออกไปนอกบ้านเพื่อตระเวนหาที่เที่ยวหรือทำกิจกรรมแถมยังลดต้นทุนในเรื่องของค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ดังนั้น นอกจากการเล่นกีฬาเบาๆ หรือกิจกรรมจำเจโดยมีเจ้าคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมต่างๆมาเป็นตัวช่วยแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆที่ลงทุนทางการเงินน้อย ซึ่งใครๆก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะเด็กๆในครอบครัว

กิจกรรมนั้นก็คือ “การปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน” กิจกรรมสำหรับทุกคนในครอบครัว เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของคนในครอบครัว ตั้งแต่การลงมติกันว่าจะปลูกผักอะไรบ้าง ปลูกบริเวณไหนของบ้าน ใครเป็นคนขุดดิน ใครจะรับหน้าที่โรยเมล็ด และที่สำคัญการแบ่งเวรดูแลรดน้ำต้นไม้

ส่วนเมล็ดพันธุ์ต่างๆนั้นก็มีมากมายให้เลือกไม่่ว่าจะเป็น ผักบุ้ง ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง พริก ตะไคร้ ต้นหอม ผักชี ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าทุกคนในบ้านอยากจะทานผักอะไร ชอบผักชนิดใด หรืออาจเลือกจากการดูระยะเวลาของการเจริญเติบโตของแต่ละชนิดก็ได้เช่นกัน เพราะต้นไม้ใช้เวลามากน้อยต่างกันในเรื่องของการเก็บดอกออกผล

นอกจากการได้ทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว พ่อแม่และผู้ปกครองควรจะสอดแทรกคำสอนและระเบียบวินัยลงไปด้วย เช่น ควรสอนให้ลูกรู้จักความรับผิดชอบในการดูแล รดน้ำต้นไม้ให้เป็นเวลา และสอนให้รู้จักสังเกตการเจริญเติบโตของมันในแต่ละช่วง ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่ยังสามารถใช้เวลานี้ทำให้เด็กๆรับรู้ว่า พวกเขาก็มีศักยภาพมากพอที่จะทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องขอเงินไปซื้อของในสิ่งที่อยากได้เท่านั้น เพราะทุกสิ่งมันขึ้นอยู่กับการรู้จักประยุกต์และการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ

4 เทคนิคชวนลูกปลูกผัก ช่วยให้พัฒนาทั้งทักษะร่างกาย ทักษะสมอง

การปลูกผักกินเอง นอกจากจะประหยัด มีผักปลอดสารพิษไว้กินแล้ว หากลองฝึกให้เด็กๆ ลงมือทำด้วยจะช่วยให้พัฒนาทั้งทักษะร่างกาย ทักษะสมอง และพื้นฐานเรื่องอารมณ์จิตใจที่เหมาะสมตามวัย ปรับทัศนคติของเด็กที่ไม่ชอบกินผักได้ดีอีกด้วย

หากพูดถึงศัตรูในใจเด็ก ส่วนใหญ่หนึ่งในนั้นคงเป็น “ผัก”แน่นอน การปลูกพืชผักสวนครัวไว้สำหรับรับประทานเองในครอบครัวเพียงพื้นที่เล็กๆ สามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานผักเกิดแก่เด็กจากที่เกลียดผักให้กลายเป็นเด็กที่รักการรับประทานผัก เด็กจะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นผักที่เขาปลูกเองค่อยๆ โตขึ้น พ่อแม่ก็จะรู้สึกตื่นเต้นไม่แพ้กันเวลาได้เห็นลูกมีความสุข เมื่อได้รับประทานผักจากแปลงผักของเขาเอง ยิ่งไปกว่านั้นทำให้เกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวรจนเกิดเป็นนิสัย ซึ่งจะปลูกฝังให้เกิดความรัก ความหวงแหน และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การรับรู้เป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้มองเห็นคุณค่าความงดงามของสิ่งแวดล้อม

ครอบครัวชนบทสามารถทำให้ลูกเรียนรู้ได้โดยง่ายเนื่องจากวิถีชีวิตจะอยู่กับธรรมชาติและต้นไม้ สำหรับชุมชนเมืองมีพื้นที่สำหรับใช้ในการเพาะปลูกน้อย เพียงพื้นที่หน้าบ้านหรือระเบียงสามารถปลูกผักตะกร้า หรือปลูกผักแนวตั้ง ถ้วย กะละมัง ขวดพาสติก ก็สามารถเพาะปลูกได้ ซึ่งปัจจุบันมีองค์ความรู้เรื่องของการปลูกผักในพื้นที่เล็ก ๆ มากมาย อย่างเช่นเว็บไซต์ของ สวนผักคนเมือง ก็มีทั้งองค์ความรู้และศูนย์เรียนรู้ที่กระจายอยู่หลายพื้นที่ให้ได้ศึกษาและนำมาปรับใช้ในบ้านได้ไม่ยาก

เทคนิคการสอนลูกปลูกผัก
1.ก่อนที่จะลงมือสอนลูกพ่อแม่เองต้องเรียนรู้ ก่อนว่าตนมีความรู้ทางด้านการเกษตรมากน้อยเพียงใด หากไม่มีความรู้มากนักก็ควรเริ่มจากศึกษาลงมือด้วยตนเองก่อน เมื่อคิดว่าทำได้สำเร็จแล้วจึงชักชวนลูกมาร่วมกันทำ
2. เริ่มจากการปลูกผักที่ปลูกขึ้นได้ง่ายๆ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ผักชี ต้นหอม คะน้า ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา พริก มะเขือเทศ เป็นต้น รวมถึงอธิบายถึงประโยชน์ของผักแต่ละชนิดให้เด็กได้เรียนรู้ โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ให้เด็กได้ลองสังเกตแยกแยะลักษณะของผักแต่ละชนิดด้วยตนเอง
3.ให้เด็กได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการปลูก ตั้งแต่การเตรียมการปลูก ลงมือปลูกและการบำรุงดูแลรักษาให้พืชผักเจริญเติบโตจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยอาจใช้วิธีเล่นเป็นเกมแข่งปลูกต้นไม้ และจากนั้นก็ต้องมีการดูแลหมั่นรดน้ำต้นไม้ที่ตัวเองปลูก แล้วดูว่าต้นไม้ของใครจะเจริญเติบโตได้ดีกว่ากัน
4. ควรจะสอดแทรกคำสอน และระเบียบวินัยลงไปด้วย เช่น ควรสอนให้ลูกรู้จักความรับผิดชอบในการดูแล รดน้ำต้นไม้ให้เป็นเวลา และสอนให้รู้จักสังเกตการเจริญเติบโตของมันในแต่ละช่วง ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถใช้เวลานี้ทำให้เด็กรับรู้ว่า พวกเขาก็มีศักยภาพมากพอที่จะทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ด้วยตัวเอง

การปลูกผัก ช่วยสอนวิธีใช้ชีวิต และการกินอาหารอย่างถูกสุขอนามัย โดยที่เด็กจะเต็มใจลองผักชนิดใหม่มากขึ้น เริ่มต้นจากพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านก็สร้างการเรียนรู้ที่ดีได้ ที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องใส่ใจ เข้าใจ และร่วมลงมือทำกับลูก