แนวทางในการปลูกผักรับประทานเองเพื่อสุขภาพ

แนวทางในการปลูกผักรับประทานเองเพื่อสุขภาพ

หากถามถึงอาหารที่มีประโยชน์ที่สุดอย่างหนึ่งคงหนีไม่พ้น “ผัก” นานาชนิดที่ทุกคนล้วนถูกปลูกฝังตั้งแต่เล็กจนโตด้วยประโยคติดหูว่า “กินผักเยอะๆจะได้แข็งแรง” เพราะหากนับแล้วผักแทบทุกชนิดมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่จะรับประทานอย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด นั่นคือคำถามที่นักวิชาการหลายต่อหลายคนล้วนหาคำตอบจนกลายเป็นหลายแนวทางในการรับประทานที่แตกต่างเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด บางแนวทางก็นิยมให้รับประทานผักตามสีเพื่อให้ได้รับประโยชน์ครบถ้วน เช่น ผักสีเหลืองส้ม อย่างแครอท ฟักทอง พริกเหลืองจะมีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย ผักใบเขียวมีคลอโรฟิลที่ช่วยบำรุงดวงตา ผักสีแดงอย่างมะเขือเทศสุกมีไลโคปีนที่ช่วยชะลอความแก่และป้องกันมะเร็งตับอ่อน ส่วนผักสีม่วงมีแอนโธไซยานินช่วยป้องกันโรคเลือด และโรคความดัน หรือบางแนวทางก็สนับสนุนให้เลือกรับประทานผักตามกรุ๊ปเลือดเพื่อการดูดซึมอย่างสูงสุด

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทำให้การปลูกผักมิได้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติอีกต่อไป แต่กลายเป็นระบบการปลูกผักแบบอุตสาหกรรม มีการใช้สารเคมีต่างๆ ปุ๋ยสังเคราะห์ สารเร่งโตและยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก ผักที่เห็นได้ชัดว่าถูกสารเคมีบ่มเพาะมาจนอวบอ้วนทำให้ดูสวยราคาแพงอยู่ตามตลาดหนีไม่พ้นผักบุ้ง ผักคะน้า และผักกาด ยิ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับผักที่ปลูกเองในบ้าน จะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างของขนาดและความอวบอ้วน แม้จะใส่ใจพรวนดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ยให้มากเป็นพิเศษ ก็ต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลิตแบบอุตสาหกรรม เพราะประชากรมีความต้องการบริโภคที่มากมายในแต่ละวัน และพื้นที่แปลงผักก็ลดน้อยลง เนื่องจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่บ้านจัดสรรมากขึ้น ส่วนพื้นที่สีเขียวในต่างจังหวัดก็กลายเป็นที่ของสิ่งปลูกสร้าง และรีสอร์ทสมัยใหม่จนมองหาสนามหญ้าได้ยากยิ่งกว่าเดิมและหากเราเชื่อในหลักการที่แพทย์กรีกนาม ฮิปโปกราตีสกล่าวไว้ว่า “You are What You Eat” การทานผักที่ผ่านกระบวนการเร่งด้วยเคมีย่อมส่งผลต่อสุขภาพส่งผลให้ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่พิถีพิถันกับการเลือกสุขภาพ ปลอดการใช้สารเคมี และมีจำนวนมากที่ลงมือปลูกเอง ซึ่งมีทั้งเครือข่ายระดับโลก เช่นสโลว์ฟู้ดที่ก่อตั้งในอิตาลี หรือในประเทศไทยเองก็มีหลายกลุ่ม อาทิ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลกหรือเครือข่ายสวนผักคนเมือง ซึ่งหากใครสนใจติดตามผลงานการปลูกผักทานเองของกลุ่มคนเหล่านี้สามารถค้นหาแนวทางดีๆ เพื่อปฏิบัติตามได้ในเฟซบุ๊กแม้การปลูกผักทานเองจะไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะผักสวนครัวที่จะปลูกกันเองไม่ได้โตพร้อมเด็ดในทุกวัน แต่ประโยชน์ทางหนึ่งที่จะได้รับอย่างชัดเจนคือผู้บริโภคสามารถชะลอการรับสารเคมีได้ในระดับหนึ่ง แถมยังเป็นการได้ออกกำลังกายทางอ้อมด้วยการปลูกผักและรดน้ำอีกด้วย